บรรยากาศในชั้นเรียน
บรรยากาศ หมายถึง ความรู้สึกหรือสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว ส่วนคำว่าสภาพแวดล้อม หมายถึง สภาวะต่างๆ ที่แวดล้อมมนุษย์อยู่ สภาวะดังกล่าวเป็นสภาวะของสิ่งต่างๆ ทั้งทางธรรมชาติและสังคมที่อยู่รอบๆ ตัวมนุษย์ มีทั้งที่ดีและไม่ดี ดังนั้น บรรยากาศจัดการเรียนการสอนเป็นสภาพแวดล้อมอย่างหนึ่งและเป็นที่ยอมกรับกันว่าบรรยากาศที่ดีเป็นผลมาจากการจัดสภาพแวดล้อมที่ดีในขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นผลมาจากการมีบรรยากาศที่ดีด้วยเช่นกัน
บรรยากาศในชั้นเรียน หมายถึง สภาพแวดล้อมทางการเรียนในชั้นเรียน ซึ่งไม่ใช่สภาพแวดล้อมทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงระดับของอารมณ์และความรู้สึกด้วย (Good 1976 : 106) ส่วนสภาพแวดล้อมการเรียนการสอน หมายถึง สภาวะที่อยู่รอบตัวผู้สอนและผู้เรียน ซึ่งเกื้อหนุนให้ผู้เรียนและผู้สอนทำงานด้วยกันมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน สื่อสารระหว่างกันจนเกิดบรรยากาศการเรียนการสอนที่ดี
โดยความสำคัญของสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในชั้นเรียน ซึ่งสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนจะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของปฏิสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นในห้องเรียน รวมทั้งเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ถ้าสภาพแล้วล้อมดีจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง และส่งผลต่อพัฒนาการของผู้เรียนในด้านต่างๆ เช่น อารมณ์ สังคม เป็นต้น ซึ่งการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนควรมีลักษณะเป็นดังนี้
- ที่นั่งสบายแสงสว่างเพียงพอ
- ผู้สอนส่งเสริมให้กำลังใจ
- เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทำงานด้วยตนเอง
- ผู้สอนสั่งงานชัดเจน
- ผู้เรียนให้ความสำคัญต่อความพยายามของตนเอง
- ห้องเรียนมีระเบียบมีการพักในบางโอกาส
ซึ่งการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนประกอบด้วย สภาพแวดล้อมเชิงกายภาพ และสภาพแวดล้อมเชิงปฏิสัมพันธ์ โดยการจัดสภาพแวดล้อมเชิงกายภาพ หมายถึง ลักษณะของห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนการสอน โดยปกติผู้เรียนจะใช้เวลาอยู่ในห้องเรียนหลายชั่วโมง ลักษณะของห้องเรียนจึงควรอยู่ในสภาพที่ดีที่ผู้เรียนอยากเข้ามาอยู่และอยู่ด้วยความสบายทั้งทางกายและทางใจ ส่วนการจัดสภาพแวดล้อมเชิงปฏิสัมพันธ์ หมายถึง สภาพหรือบรรยากาศของห้องเรียนที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียน รวมทั้งนักเรียนกับนักเรียน โดยความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนอาจเป็นความสัมพันธ์เชิงบวก เช่น บรรยากาศของห้องเรียนอบอุ่น เป็นมิตร คุ้นเคย เป็นกันเอง หรืออาจเป็นความสัมพันธ์เชิงลบ เช่น มีความเย็นชา ขาดการสื่อสารที่ดี บรรยากาศเป็นเผด็จการ หรือปล่อยเสรี ซึ่งในการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพจะส่งผล ให้เกิดการพัฒนาการด้านจิตใจและสังคมของผู้เรียน อำนวยความสะดวกหรือสนับสนุนให้วัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนบรรลุผล ส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการของผู้เรียน พัฒนาทักษะในการกำกับการเรียนด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกันในบรรยากาศที่อบอุ่นและเน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน
การจัดการชั้นเรียน
การบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นปัจจัยส่งเสริมการเรียนรู้ที่สำคัญ ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของผู้เรียน ผู้สอนต้องพยายามบริหารจัดการชั้นเรียนเพื่อส่งเสริมให้การเรียนการสอนดำเนินด้วยความราบรื่น เรียบร้อย และเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งความหมายของการบริหารจัดการชั้นเรียน คือ พฤติกรรมของผู้สอนในการดำเนินกิจกรรมที่กำหนดขึ้นเพื่อสร้างเสริมการเรียนรู้ของของนักเรียน เป็นการกระทำทุกอย่างของผู้สอนที่จะทำให้ห้องเรียนมีระบบระเบียนที่ดี ที่จะช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการปฏิบัติกิจกรรมและการสร้างสิ่งแวดล้อมของห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยองค์ประกอบที่ควรคำนึงในการจัดการชั้นเรียน ประกอบด้วย จัดมุ่งหมายการเรียนรู้ สื่อการเรียนการสอน เนื้อหาสาระของบทเรียน วัยของผู้เรียน จำนวนผู้เรียน และขนาดลักษณะของห้องเรียน
เทคนิคการบริหารจัดการชั้นเรียน
1. ผู้สอนบอกหรือสื่อสารให้ผู้เรียนทราบเกี่ยวกับระเบียน กฎเกณฑ์ต่างๆ ในการทำงาน
2. ผู้สอนใช้พฤติกรรมทางกายหรือภาษาท่าทางช่วยในการควบคุมชั้นเรียนให้อยู่ในระเบียบวินัย
3. การใช้เวลาของผู้สอน ควรใช้เวลาสอนให้มากและไม่เสียเวลากับการจัดการห้องเรียน
4. การทำงานกับผู้เรียน ผู้สอนควรทำงานกับผู้เรียนทั้งชั้น สามารถสั่งและควบคุมงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ไม่ปล่อยให้นักเรียนคนใดคนหนึ่งไม่ปฏิบัติกิจกรรมหรือไม่ทำงาน
5. การควบคุมพฤติกรรมที่เหมาะสม ผู้สอนต้องสามารถใช้วิธีห้ามพฤติกรรมที่เหมาะสมของผู้เรียนโดยคำนึงถึงวัยของผู้เรียน
6. การสื่อสารของผู้เรียนให้ผู้เรียนทราบว่าผู้สอนมุ่งหวังอะไรในการเรียนการสอน
จากเทคนิคการบริหารจัดการชั้นเรียนผู้สอนกับงานสอนและการบริหารจัดการชั้นเรียน จึงต้องมีการเตรียมการสอน โดยต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน ศึกษาหาแหล่งสื่อการเรียนการสอน และฝึกทำอุปกรณ์หรือสื่อการสอน เพื่อให้การสอนราบรื่น รวมถึงผู้สอนต้องมีภาระหน้าที่ในการประเมินผลการสอนเพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : รศ.ดร.สิริวรรณ ศรีพหล